วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

P-Innovasys ในงาน Productivity Week 2008

วันนี้ทาง Productivity InnovaSys มีภาพบรรยากาศงาน Thailand Productivity Week 2008 มาฝาก ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 28 พฤศจิกายน 2551 ณ โรงแรมเรดิสัน ถ.พระราม9 กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานมากมาย ทั้งตัวแทนจากบริษัทต่าง ๆ และหน่วยงานภาครัฐ โดยในวันแรกของงานเป็นการเสวนา เรื่อง "5ส ภาครัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน" โดยผู้เชียวชาญ 5ส จากองค์กรภาครัฐ และตัวแทนโรงเรียนที่ดำเนินกิจกรรม 5ส ภายใต้โครงการ ปตท. เสริมสร้างคุณภาพชีวิตสู่เยาวชน การบรรยาย 5ส กับงานสาธารณสุข และ 5ส กับพลังงานยุคเศรษฐกิจพอเพียง ในวันที่ 27 พ.ย. วันแห่งการชิงชัย Thailand 5S Award ครั้งที่ 7 ในวันนั้นเริ่มด้วยการบรรยายพิเศษ "Road Map to TPM Excellence Award" โดย ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และต่อด้วยการนำเสนอผลการดำเนินงานกิจกรรม 5ส ของบริษัทต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย Thailand 5S Award 2008 ซึ่งการนำเสนอนั้นเป็นไปอย่างน่าสนใจ ซึ่งผลการตัดสินปรากฏว่า บริษัท กรุงเทพผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้รับรางวัล ชนะเลิศ (Golden Award) ส่วนอีก 4 บริษัทที่เหลือ ได้รับรางวัล Silver Award คือ บริษัทไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด บริษัท ไทยเอ็มเอฟซี จำกัด บริษัท แอร์โรเฟลกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด และบริษัท แปซิฟิค แปรรูปสัตว์น้ำจำกัด จาก สงขลา นอกจากนี้บริษัทแปซิฟิค แปรรูปสัตว์น้ำจำกัด ยังได้รับรางวัลบู้ทโดนใจ และรางวัลขวัญใจมหาชน (Popular Vote)อีกด้วย

วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมระบบ 5ส

วันนี้ผมจะมาพูดคุยกับการขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม 5ส ในสถานประกอบการกัน ซึ่งถ้าหากอ่านจากหนังสือหรืออ้างอิงจากตำรา หรือวิทยากรท่านผู้รู้ ต่าง ๆ อาจจะมีขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมระบบ 5ส ที่อาจจะต่างกันแต่ผมคิดว่าแนวคิด หรือ concept การดำเนินงานไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งวันนี้ผมจะนำเสนอขั้นตอนการดำเนินการกิจกรรมระบบ 5ส ตามรูปแบบและประสบการณ์ที่เคยได้ดำเนินมาและสามารถเข้ารอบลึก ๆ ของการประกวด Thailand 5S award มาแล้ว โดยมีขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมดังนี้

1.การประกาศนโนบายของบริษัทในการมุ่งมั่นและสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนในการดำเนินกิจกรรม 5ส (ข้อนี้สำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายและความมุ่งมั่นของผู้บริหารสูงสุดขององค์กร)

2.ดำเนินการให้การศึกษา อบรมความรู้เรื่องการทำกิจกรรม 5ส ให้แก่พนักงานในองค์กรทุกคน (อาจจะจัดอบรมภายใน หรือดูงานภายนอกเพื่อเห็นตัวอย่างการทำ 5ส จริง ๆ จะยิ่งสร้างความเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนให้พนักงานยิ่งกว่า)

3.จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการกิจกรรม 5ส (แนะนำให้คลอบคลุมตัวแทนพื้นที่ทุกพื้นที่และทุกฝ่ายในองค์กร)

4.การจัดทำแผนการดำเนินงานกิจกรรม 5ส (จัดทำแผนงานหลัก (Master plan โดยคณะกรรมการและผู้บริหารกิจกรรม 5ส ) และแผนงานย่อย (Action plan โดยพื้นที่จัดทำแผนงานเพื่อตอบสนองการดำเนินงานของแผนงานหลัก)

5.การรณรงค์ประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรม 5ส อย่างต่อเนื่อง (มิใช่รณรงค์ช่วงใดช่วงหนึ่ง หรือรณรงค์เมื่อผู้บริหารท้วงติงขึ้นมา)

6.การจัดแบ่งและทำผังพื้นที่ความรับผิดชอบและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่ (ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ขององค์กรและผู้บริหารพื้นที่ควรมีอำนาจในการบริหารจัดการและการสั่งการจะทำให้การดำเนินกิจกรรม 5ส มีประสิทธิภาพมากกว่า)

7.การจัดเก็บข้อมูลเบื้องต้นก่อนการดำเนินกิจกรรม 5ส (ควรเก็บทั้งข้อมูลพื้นฐานทั่วไปที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ภาพถ่ายพื้นที่เป็นจุดบกพร่อง สิ่งสกปรกในพื้นที่ ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยต่าง ๆ เป็นต้น และข้อมูลที่เป็นตัวเลขเช่น อัตราการผลิตในแผนก อัตราการเกิดอุบัติเหตุของพนักงานในพื้นที่ อัตราของเสียที่เกิดขึ้น ต้นทุนในการผลิต เป็นต้น)

8.ดำเนินการทำกิจกรรม 3 ส แรก คือ ส สะสางเพื่อลดความสูญเปล่า ส สะดวก สร้างความสะดวกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และ ส สะอาด คือการทำความสะอาดเพื่อสร้างความสะอาดและตรวจสอบค้นหาจุดบกพร่องในพื้นที่

9.ดำเนินการทำ ส ที่ 4 คือ ส สร้างมาตรฐานในพื้นที่ (คือการนำ ข้อบกพร่องในขั้นตอนที่ 7 มาทำการปรับปรุง เช่น ภาพถ่ายที่มีปัญหามาดำเนินการแก้ไข หรือข้อบกพร่องต่าง ๆ นำมาแก้ไขและสร้างมาตรฐานต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่)

10.ดำเนินการทำ ส ที่ 5 คือ สร้างวินัยให้แก่พนักงานในพื้นที่ ในการดำเนินกิจกรรม ส ทั้ง 4 อย่างต่อเนื่องให้กลายเป็นนิสัย (เพื่อสร้างวัฒนธรรมให้แก่องค์กรให้การทำ 5ส กลายเป็นนิสัยและไม่ต้องทำ 5ส หรือคิดว่าการทำ 5ส เป็นภาระ เหมือนหลาย ๆ องค์กรกำลังประสบอยู่)

11.การตรวจสอบ และ การประเมิน (โดยจัดทำแบบฟอร์มตรวจประเมิน ส ทั้ง 5 ตัว และแนะนำว่าแบบฟอร์มการตรวจประเมินควรมีหลายแบบ เนื่องจากพื้นที่การปฏิบัติงานมีหลายแบบ และมาตรฐานแตกต่างกัน) ซึ่งการตรวจประเมินควรมีอย่างน้อย 2 ระดับ เช่น ตรวจประเมินโดยหัวหน้าพื้นที่เอง หรือคณะกรรมการกิจกรรม 5ส และการตรวจประเมินโดยผู้บริหาร โดยหลักในการตรวจสอบและประเมินนั้นควรยึดหลัก PDCA (Plan, Do, Check, Act)

12.การปรับปรุงพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง (อย่าสับสนระหว่างการปรับปรุงเพื่อให้เข้าสู่สภาพเดิม (Back to basic) และการปรับปรุงเพื่อยกระดับการทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)) ซึ่งการปรับปรุงมาตรฐานมีเทคนิคและเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น การปรับปรุงโดยภาพถ่ายหรือที่เรียกว่า Visual Feedback Photography (VFP) การปรับปรุงโดยภาพถ่ายก่อน (ภาพปัญหา) และหลัง (ภาพหลังการปรับปรุง)หรือที่เรียกว่า Before-After หรือแม้แก่การปรับปรุงโดยการทำกิจกรรม ไคเซ็น หรือการทำ Visual Control เป็นต้น

13.การรายงานผลการดำเนินงาน กิจกรรม 5ส (จะไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย ที่ทำกิจกรรม 5ส แต่ไม่มีการสรุปและรายงานผลการดำเนินงาน) ซึ่งในพื้นที่ควรให้มีการรายงานผลการดำเนินงานให้สมาชิกทุกท่านในพื้นที่ทราบ (แนะนำให้ทุกพื้นที่ควรมีบอร์ดการดำเนินกิจกรรม 5ส) และในระดับบริหารควรสรุปเป็นภาพรวม และรายงานผลให้ผู้บริหารกิกจรรม 5ส และผู้บริหารในองค์กรทราบ (ควรนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้วยเพื่อที่จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่อไป) (แนะนำให้บริษัทควรมีบอร์ดสรุปภาพรวมของการดำเนินกิจกรรม 5ส หรือถ้ามีการพัฒนาเป็นรูปแบบ Visual Management จะยิ่งดีมาก)

14.การจัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างขวัญและกำลังใจของการดำเนินกิจกรรม 5ส เช่น การประกวดพื้นที่ดีเด่น การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างพื้นที่ การประกวด 5ส สตาร์ การประกวด Mister and Misses 5ส และการประกวดคำขวัญ 5ส เป็นต้น

15. การวัดผลและประเมินผลหลังการทำระบบ 5ส
ซึ่งการวัดผลนี้ควรกำหนด ปัจจัยชี้วัด (Key Performance Indicators หรือ KPIs) เอาไว้ก่อน (แนะนำให้เก็บข้อมูลเอาไว้ก่อน ดังขั้นตอนที่ 7) เมื่อดำเนินกิจกรรม 5ส แล้วนำข้อมูลหลังการทำ 5ส มาทำการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานตาม KPI ที่ตั้งไว้ ตัวอย่าง KPIs เช่น อัตราการผลิต (Productivity), คุณภาพ (Quality), ต้นทุน (Cost), อัตราการส่งมอบ (Delivery), ความปลอดภัย (Safety), และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Environment) เป็นต้น อย่างไรก็ตามการวัดและประเมินผลนั้นควรยึดหลัก PDCA ในการวัดและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

Introduction to 5S-Visual Management and Lean Manufacturing

วันนี้ผมมี clip ดี ๆ เกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของกิจกรรม 5ส และการทำ Visual Management และ Lean Manufacturing มาฝาก (English Version)


วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การเพิ่มผลผลิต (Productivity)

“การเพิ่มผลผลิต” หรือ Productivity นั้น เรามักจะได้ยินหรือฟังกันบ่อย แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจและรู้จักมันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับ การเพิ่มผลผลิตว่า เป็นการเพิ่มปริมาณการผลิต ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องซะทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นมักจะไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องที่การเพิ่มผลผลิตเท่าที่ควร ทั้งๆที่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยให้ประเทศไทยสามารถฝ่าฝันวิกฤตเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นได้ โดยเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงงาน รัฐวิสาหกิจ สำนักงาน สถาบันต่างๆ ตลอดจน การเพิ่มผลผลิตในระดับครอบครัว และปัจเจกบุคคล

รู้จัก Productivity กันดีกว่า
การเพิ่มผลผลิต มีแนวคิดว่า “QCD-SMEE” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
-Q:Quality คุณภาพ
-C:Cost การลดต้นทุน
-D:Delivery การส่งมอบ
-S:Safty ความปลอดภัย
-M:Morale ขวัญและกำลังใจในการทำงาน
-E:Environment สิ่งแวดล้อม
-E:Ethics จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ

การเพิ่มผลผลิตที่ดี ควรจะมีองค์ประกอบครบทั้ง 7 ตัว นั้นสามารถจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้ คือ
- คุณภาพ,การลดต้นทุนและการส่งมอบนี้เป็นการปรับปรุงเพื่อตอบสนองความพอใจลูกค้า
- ส่วนความปลอดภัยและขวัญกำลังในเป็นการปรับปรุงเพื่อพนักงาน
- ส่วนสิ่งแวดล้อมและจรรยาบรรณก็ปรับปรุงเพื่อสังคม



แต่โดยทั่วไปแล้วแนวคิดการเพิ่มผลผลิตสามารถแบ่งได้เป็น 2 แนวคิดคือ
1. แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ตามแนวคิดของ International Labor Organization
การเพิ่มผลผลิต คือ อัตราส่วนระหว่างมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตต่อมูลค่าของทรัพยากรที่ใช้ไป
การเพิ่มผลผลิต = ผลิตผล/ปัจจัยการผลิตที่ใช้จริง+ปัจจัยการผลิตที่เป็นของเสีย


2.แนวคิดทางด้านสังคมศาสตร์ ตามคำนิยามของ European Productivity Agency
"การเพิ่มผลผลิต เป็นความสำนึกในจิตใจที่มุ่งแสวงหาทางปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นฐานที่เชื่อว่าเราสามารถทำวันนี้ได้ดีกว่าเมื่อวานนี้และพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ เป็นความพยายามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่จะปรับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ให้ทันการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้วิธีการ และเทคนิคใหม่ ๆเป็นความเชื่อมั่นในความก้าวหน้าของมนุษย์"

Quality:คุณภาพ
ความหมายของคุณภาพ
คือสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

ความสำคัญของคุณภาพ
1. สร้างความพอใจให้เกิดแก่ลูกค้า
2. ช่วยลดต้นทุน
3. สามารถส่งมอบได้ตามกำหนด
4. มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
5. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้แก่องค์กร
6. นำมาสู่การเพิ่มกำไรให้แก่องค์กร

วิธีการสร้างคุณภาพ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ากระบวนการผลิตต่าง ๆ (Production and operations management) นั้นประกอบด้วย Input Process and Output และก็ระบบ Feedback & Feedforward ดังนั้นในการสร้างคุณภาพในกระบวนการนั้นไม่ใช่แค่ที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงปัจจัยนำเข้า และกระบวนการที่เป็นมาตรฐานด้วย

การประกันคุณภาพ
คือกิจกรรมหรือการปฏิบัติใด ๆที่ถ้าได้ดำเนินการตามระบบแผนที่วางไว้จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า จะได้ผลงานมีคุณภาพ ตรงตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ การประกันคุณภาพของสินค้าเกี่ยวข้องกับ
  • Inspection
  • Quality Control
  • Reliability Control

ซึ่งปัจจุบันก็มีการนำมาตรฐาน ISO 9000, ISO 14000, ISO18000, QS 9000เป็นต้นมาใช้เป็นมาตรฐานในการประกันคุณภาพ

Cost:การลดต้นทุน

การลดต้นทุนเป็นหนทางแห่งความอยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการมีความจะเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสนใจและเพิ่มความพยายามในการลดต้นทุนอย่างจริงจัง

ความหมายของต้นุทน
ต้นทุน คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนตั้งแต่การทำการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนกระทั่ง ผลิตภัณฑ์ หรือบริการนั้นอยู่ในมือลูกค้า

องค์ประกอบต้นทุน
เราสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ค่าวัตถุดิบทางตรง
2. ค่าแรงงานทางตรง
3. ค่าโสหุ้ยการผลิต ( Overhead Cost)

แนวทางในการลดต้นทุน
1. ใช้หลักวิศวกรรมคุณค่า Value Engineering
2. ขจัดการสูญเสียวัตถุดิบ ซึ่งอาจทำโดย การเปลี่ยนวิธีการผลิต จัดระบบ Inventory ให้มีประสิทธิภาพ
3. มีการจัดระบบ Total Preventive maintenance
4. มีการวางแผนกำลังการผลิต Master schedule ให้เหมาะสมมีการใช้ทรัพยากรต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการรอคอย การขนส่งที่ไม่จำเป็น
5. ปรับปรุงวิธีการทำงานให้สามารถปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพ ( Time and Motion Study)
6. ฝึกอบรมและสอนงานให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการทำงานอย่างถูกต้อง
7. ออกแบบลักษณะงาน Job Enlargement and job enrichment ซึ่งจะช่วยให้สามารถทดแทนแรงงานได้เมื่อมีการขาดงานหรือทำงานไม่ทัน


Delivery: การส่งมอบ
การส่งมอบ คือการส่งงานที่ผลิตเสร็จแล้วในหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งโดยผ่านการขนย้ายโดยใช้สายพาน,รถเข็น,รถยกหรือให้คนเคลื่อนย้ายและสุดท้ายส่งมอบให้ลูกค้า

การปรับปรุงการส่งมอบ
การส่งมอบสินค้าที่ดี ต้องเริ่มจากการวางแผนการผลิตที่ดี โดยพยายามให้ในสายการผลิตเดียวกัน มีการผลิตและส่งชิ้นงานได้ตรงตามความต้องการ แล้วจะส่งผลให้ในสายการผลิตนั้น มีการไหลอย่างต่อเนื่องมากขึ้น และมีงานระหว่างทำในประมาณที่น้อยมาก ประสิทธิภาพของเครื่องจักรดีไม่มีการขัดข้องเสียหายบ่อย ก็จะช่วยให้สามารถทำได้รวดเร็ว ระยะเวลาผลิตโดยรวมก็จะลดน้อยลง
ในด้านของพนักงานที่มีผลต่อการส่งมอบคือ ความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานของพนักงานที่ทำหน้าเครื่องในสายการผลิตและสายการประกอบ เช่น ความเร็วในการทำงานลดลง ความสูญเสียที่เกิดจากการรองาน ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลาในการผลิตชิ้นงานพนักงานคนนั้นมีระยะเวลาที่นานเกินไป ซึ่งหาไม่ได้สังเกตความสูญเสียในงานเหล่านี้ก็จะเกิดความสะสมของปัญหา และมีผลต่อต้นทุนการผลิตได้เช่นกัน ดังนั้นควรใช้เทคนิควิศวกรรมอุตสาหการทำการศึกษา เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาสาเหตุในการแก้ปัญหา
การส่งมอบในสายการผลิตหรือระหว่างกระบวนการผลิตในโรงงานจะมีผลต่อการส่งมอบในขั้นสุดท้ายคือการส่งมอลบให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าของบริษัท ซึ่งบริษัทอาจแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนเครื่องจักรที่รวดเร็ว การพยายามลดความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรและคน หาวิธีการที่เหมาะสมซึ่งเริ่มตั้งแต่การวางแผนการสั่งซื้อ การจัดวัตถุดิบ การวางแผนการผลิตไปจนถึงการส่งมอบที่ทันเวลา และมีความยืดหยุ่นต่อาความต้องการของตลาด เหล่านี้จะส่งผลให้โรงงานนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด

Safety:ความปลอดภัย
ความปลอดภัย คือ สภาวะที่ปราศจากอุบัติเหตุ หรือสภาวะที่ปลอดจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บฯลฯ หรือ การควบคุมความสูญเสียจากอุบัติเหตุ

การป้องกันอุบัติภัย


1. การจัดองค์การและบริหารงานด้านความปลอดภัย
1. กำหนดนโยบายและความรับผิดชอบขององค์การเกี่ยวกับความปลอดภัยส่วนบุคคล ครอบคลุมถึงคู่มือความปลอดภัย ฯลฯ
2. การบรรจุคนงานให้เหมาะสมกับงาน
3. การควบคุมอุบัติเหตุและความเสียหาย
4. ผู้บริหารทุกระดับชั้นต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและอุบัติเหตุ
5. กำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานด้านความปลอดภัย


2.การควบคุมอันตรายทั่ว ๆ ไป
1. จัดระเบียบและดูแลรักษาโรงงาน
2. มีการออกแบบเครื่องป้องกันอันตรายของเครื่องจักรอย่างถูกต้อง รวมทั้งจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการ
3. จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างเหมาะสม
4. จัดหาอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลตามมาตรฐานที่กำหนด และมีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงาน

3.การควบคุมอันตรายในกระบวนการผลิต
1. การป้องกันอันตรายจากสารเคมี
2. การป้องกันอัคคีภัย

4.การฝึกอบรม การสื่อสาร การจูงในด้านความปลอดภัย
1.ฝึกอบรมด้านความปลอดภัย แก่ผู้บริหารและผู้ควบคุม
2.ปลูกฝังทัศนคติด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานใหม่
3.จัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน
4. ตรวจหาข้อป้องกันและแก้ไข
5.จัดประชุมด้านความปลอดภัย
Etc.

5. การสอบสวนอุบัติเหตุ และการวิเคราะห์สาเหตุ
1.มีการสอบสวนและรายงานอุบัติเหตุทุกครั้ง
2.มีระบบการเก็บรวมรวมและจัดทำสถิติอุบัติเหตุ
3.มีการนำข้อมูลทางอุบัติเหตุไปใช้ประโยชน์


Morale: ขวัญและกำลังใจ
“ขวัญและกำลังใจในการทำงาน คือ สภาพทางจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน เช่นความรู้สึกหรือความนำคิดที่ได้รับอิทธิผล แรงกดดันหรือสิ่งเร้าจากปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมในองค์การที่อยู่รอบตัวเขา และมีปฎิกริยาโต้กลับคือ พฤติกรรมในการทำงานซึ่งมีผลโดยตรงต่อผลงานของบุคคลนั้น”

การเพิ่มผลผลิตกับขวัญและกำลังใจ
ในองค์กรต่างๆหากมีบุคคลที่มีคุณภาพก็ถือว่าสำเร็จไปกว่าครึ่งเนื่องจากทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าขององค์การ ที่ต้องเอาใจใส่และพยายามรักษาขวัญและกำลังใจของสมาชิกให้อยู่ในสภาพที่ดี ในที่นี้การเพิ่มผลผลิตก็มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขวัญและกำลังใจของพนักงานให้สูงขึ้น โดยการนำกิจกรรมต่างๆที่ใช้เพื่อการเพิ่มผลผลิต เช่น กิจกรรม 5 ส, กิจกรรมกลุ่มคุณภาพ , Hoshin Kanri นำมาเพื่อเป้าหมายข้างล่างนี้คือ
- พัฒนาพนักงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงานที่สูงขึ้น
- เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน
- ฝึกให้พนักงานเป็นคนช่างสังเกต มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
- รู้จักทำงานเป็นทีมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและปรับปรุงงาน
- หาทางป้องกันมิให้เกิดสภาพที่ไม่ปลอดภัยในการทำงาน

นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงานแก่พนักงานให้เกิดการปรับปรุงงานและสถานที่ทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)


E: Environment
สิ่งแวดล้อมกับอุตสาหกรรม

ในรอบ 2-3 ทศวรรษ การพัฒนาอุตสาหกรรมาของประเทศก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งและอย่างไม่เป็นระบบ เมื่อการเาจริญเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเป็นไปอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ ประเด็นสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวพันโดยตรงกับคุณภาพสินค้า และระบบการบริหารการจัดการ โดยเฉพาะการยอมรับในตลาดโลกที่ควบคุมดูแล โดย WTO นอกจากนี้การกำหนดมาตรฐาน ISO ก็ได้นำมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมมาใช้ และระบุชัดเจนในการกำหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ฉะนั้น อุตสาหกรรมใดทำลายสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมนั้นก็อาจเป็นที่เพ่งเล็งและในที่สุดก็จะถูกควบคุมโดยกลไกของตลาดโลก ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมใดหยิบยกประเด็นทางสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญโอกาสที่จะได้รับการต่อรองทางการค้าจะมีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคก็จะเป็นกลไกที่สำคัญอีกทางหนึ่งในการผลักดันให้ผู้ผลิตหันมาดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

สิ่งแวดล้อมกับการเพิ่มผลผลิต
Waste Minimization ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลผลิตโดยการจัดการของเสีย โดยมุ่งหวังให้มีการตรวจสอบสาเหตุหรือต้นเหตุของการเกิดของเสีย และหาแนวทางในการจัดการแหล่งกำเนิดนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ปลายทางบรรเทาลง นอกจากนี้ยังรวมถึงแนวทางในการใช้หมุนเวียน และการประหยัดทรัพยากรต่างๆ อีกด้วย
สำหรับ Waste Minimization นี้บางครั้งมีการเรียกว่า "Clean Technology, Cleaner Production, Pollution Prevention หรือ Green Productivity"

E:Ethic
ในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ๆ ก็ควรที่จะยึดแนวทางจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Business Ethics) เพื่อจรรโลง ไว้ซึ่งสังคมที่ดีและน่าอยู่สำหรับเพื่อมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม กล่าวคือการมีจรรยาบรรณนั้นหมายถึงการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งสามารถพิจารณาได้คือ
  • เว้นจากการเบียดเบียนลูกค้า
  • เว้นจากการเบียดเบียนผู้จัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบ
  • เว้นจากการเบียดเบียนพนักงาน
  • เว้นจากการเบียดเบียนผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ
  • เว้นขจากการเบียดเบียนคู่แข่ง
  • เว้นจากการเบียดเบียนราชการ
  • เว้นจากการเบียดเบียนสังคม
  • เว้นจากการเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม


ในการแข่งขันที่เสรีของโลกในยุคที่ข่าวสารไร้พรมแดนเช่นนี้ การเพิ่มผลผลิตด้วยแนวคิด QCD-SMEE ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ที่จะสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานความพอใจของลูกค้า ผู้ประกอบการและสังคม ฉะนั้น อย่ารีรอเวลาเริ่มนำแนวคิดนี้ไปปรับประยุกต์ใช้ในองค์กรของคุณ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustain Development)

วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551

การปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) และการนวัตกรรม (Innovation)

การปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) และการนวัตกรรม (Innovation) หมายถึงอะไร
Kaizen เป็นคำมาจากภาษาญี่ปุ่น หมายถึงการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ เป็น ค่อย ๆ ไป โดยทั่วไปเน้นที่คน เช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ไม่ต้องใช้การลงทุนสูง ส่วน Innovation หรือที่เราเรียกกันว่า การนวัตกรรมนั้น ก็คือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยมักเน้นที่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ การเปลี่ยนใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย

Kaizen และ Innovation มีความสำคัญอย่างไร

หากเรายังทำงานรูปแบบเดิม หยุดอยู่กับที่ เราก็คงจะแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ หากคู่แข่งพัฒนาปรับปรุงงานอยู่เสมอ เช่น การมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา การมีต้นทุนที่ต่ำลง มีคุณภาพสูงขึ้น และส่งมอบงานให้ลูกค้าได้เร็วกว่า ฉะนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องปรับปรุงงานของเราอยู่เสมอ ซึ่งการปรับปรุงก็ทำได้โดยการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หรือว่าจะค่อย ๆ ปรับปรุงงานของเราไปอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างของการปรับปรุงแบบ Kaizen และ Innovation
สมมติว่าท่านอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต หากท่านต้องการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ท่านอาจทำได้โดยการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรแบบใหม่ที่ทำให้ชิ้นงานถูกผลิตออกมาเร็วขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีหากมันคุ้มค่าแก่การลงทุน อีกทางหนึ่งท่านอาจจะปรับปรุงวิธีการทำงาน ลดงานที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ลดการเอื้อมมือหรือลดระยะทางที่คนงานต้องเดิน ในอุตสาหกรรมบริการก็เช่นกัน ท่านอาจจะรื้อระบบใหม่ หรือปรับปรุงงานทีละเล็กละน้อย

ตัวอย่างง่าย ๆ ของการทำ Kaizen เช่น คนงานเสนอแนะว่าชั้นวางเครื่องมือสูงไป เมื่อลดระดับชั้นลงมา ก็ทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้น เร็วขึ้น จะเห็นว่า Kaizen เป็นการปรับปรุงงานง่าย ๆ ที่ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง การทำ Kaizen ใช้ขั้นตอนง่าย ๆ ตามสามัญสำนึก ซึ่งก็คือ วางแผน ลงมือปรับปรุง ตรวจสอบดูว่าได้ผลเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่ ถ้าได้ก็รักษามาตรฐานนี้ไว้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องแก้ไขให้ได้ตามที่วางแผนไว้ การทำ Kaizen เป็นการทำวงจรนี้ซ้ำ ๆ ไป ซึ่งก็จะเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง วงจรที่ว่านี้ก็คือ PDCA (Plan – Do – Check – Act) (ดูหัวข้อ “7 ขั้นตอนในการปรับปรุงคุณภาพตามแนวทาง PDCA”)

ต่อไป ขอเสนอตัวอย่างของการทำ Kaizen โดยการปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อลดงานที่ไม่จำเป็นออกไป งานที่ไม่จำเป็นได้แก่ การขนย้าย การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น อาจทำได้โดยการวางเครื่องจักรให้อยู่ใกล้กันมากขึ้น เพื่อลดระยะทางขนย้ายระหว่างเครื่องจักร ในบางกรณี การเก็บชิ้นงานที่รอเข้าสู่กระบวนการถัดไปไว้บนรถเข็น แทนที่จะเก็บไว้บนชั้นแล้วต้องมาถ่ายลงรถเข็นอีกครั้ง ก็เป็นการช่วยลดการขนย้ายที่ไม่จำเป็นไปได้ นั่นก็คือการขนย้ายระหว่างชั้นกับรถเข็น

การจัดให้คนงานคนเดียวทำงานหลายๆ ขั้นตอนต่อเนื่องกันไป แทนที่จะแยกให้หลายๆคนทำ ก็จะช่วยลดการเคลื่อนไหวในการส่งต่องานไปยังคนถัดไป และลดงานรอระหว่างขั้นตอนลงได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้คนงานรู้จักงานอย่างครบวงจร เห็นภาพรวมของงานที่ตนทำ ซึ่งก่อให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงงานของตน ทั้งนี้หากกลุ่มผลิตภัณฑ์ใดมีปริมาณการผลิตค่อนข้างสูง เราก็อาจจะนำเครื่องจักรที่จำเป็นในการผลิตตามขั้นตอนต่างๆ มาวางเรียงต่อกัน แทนที่จะวางเครื่องจักรที่จำเป็นเหล่านั้นแยกกันอยู่ตามแผนกต่างๆ วิธีนี้ก็จะช่วยลดระยะทางขนย้ายระหว่างเครื่องจักรลงได้ เป็นการประหยัดเวลายิ่งขึ้น

การจัดให้มีระบบข้อเสนอแนะจากพนักงานในเรื่องการปรับปรุงงาน ก็เป็นการสร้างระบบการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง (ดูหัวข้อระบบการให้คำแนะนำ) นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านดูหัวข้ออื่นๆเกี่ยวกับการควบคุมและปรับปรุงคุณภาพด้วย เพื่อให้ได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการปรับปรุงงาน เช่น หัวข้อ “การลดความสูญเปล่าด้วยหลักการ ECRS”

ตัวอย่างของนวัตกรรม เช่น การทดแทนเครื่องจักรรุ่นเก่าด้วยเครื่องจักรรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น มีความแม่นยำและให้อัตราผลผลิตที่สูงกว่า ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง

ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับ Kaizen และ Innovation

Kaizen และ Innovation เป็นการปรับปรุงงานทั้งคู่ เราควรจะใช้ Innovation เมื่อระบบของเราในปัจจุบันมีขีดจำกัดแล้ว เช่นเทคโนโลยีที่มีอยู่ล้าสมัย จะปรับปรุงงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างไร ก็อาจทำให้งานดีขึ้นได้ไม่ตามที่ต้องการ หรือเมื่อเราต้องการการปรับปรุงอย่างมาก ทั้งนี้จะต้องพิจารณาในแง่ความคุ้มทุนด้วย แต่ไม่ว่าจะทำการนวัตกรรมหรือไม่ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ตลอด เนื่องจากหากเราอยู่กับที่ เราก็อาจจะล้าหลังคู่แข่งที่มีการพัฒนาไปได้
ถ้าใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้วเราไม่ทำการรักษา และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ระดับขีดความสามารถใหม่นี้ก็จะเสื่อมถอยลง ดังนั้น Kaizen กับ Innovation จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องใช้ควบคู่กันไป สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การทำนวัตกรรมซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงอาจเป็นข้อจำกัด จึงควรใช้เมื่อมีความจำเป็น แต่การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องลงทุนสูงแต่อย่างใดคำไข Kaizen, Innovation ไคเซ็น นวัตกรรม การปรับปรุงคุณภาพ นิยามธุรกิจ การพัฒนามาตรฐานธุรกิจจัดทำโดย อ. ดร. นภัสสวงศ์ โอสถศิลป์
Document Source: สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

กลยุทธ์พัฒนาสินค้าเทคโนโลยี-นวัตกรรม

เรามักจะได้ยินเสมอว่าวิธีที่ เอสเอ็มอี จะพัฒนาธุรกิจให้ขยายตัวออกไปได้อย่างมั่นคงก็คือ การสร้างนวัตกรรม หรือ การสร้างความแปลกใหม่ให้กับสินค้าหรือกระบวนการในการดำเนินธุรกิจและส่วนประกอบหนึ่งของการสร้างความแปลกใหม่ ก็หนีไม่พ้นการสร้างหรือแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านต่างๆ มาเสริมความแข็งแกร่งให้กับกิจการโดยทั่วไปแล้ว กระบวนการพัฒนาสินค้าใหม่หรือการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์เข้ากับตัวสินค้า เป็นเรื่องที่จะต้องมีการดำเนินการและวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้เอสเอ็มอีสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะความผิดพลาดในการออกสินค้าใหม่หรือการนำสินค้าใหม่สู่ตลาด อาจสร้างความเสียหายทางธุรกิจให้กับกิจการได้อย่างรุนแรงโดยเฉพาะสินค้าใหม่ที่ต้องใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องมีการลงทุนสูงถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีหน่วยงานสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับเอสเอ็มอีที่ต้องการมุ่งสร้างธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ไม่น้อย และทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนวัตกรรม ก็ย่อมจะเล็งผลเลิศและมุ่งประสงค์ที่จะนำธุรกิจใหม่นั้นไปสู่ความสำเร็จเชิงธุรกิจไม่ได้ต้องการที่จะกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อความ “มัน” หรือ ความต้องการที่จะพิสูจน์ฝีมือหรือความรู้ทางเทคนิคของตนเพียงอย่างเดียวเพื่อให้เอสเอ็มอีที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจนวัตกรรม สามารถดำเนินการไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้ เอสเอ็มอีนวัตกรรม เถ้าแก่นักประดิษฐ์ หรือ เถ้าแก่ไฮเทค ทั้งหลาย ซึ่งปัจจุบันได้รับการเอ่ยถึงในนามของ Technopreneur ซึ่งมาจากคำว่า Technology (เทคโนโลยี) + Entrepreneur (ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจ)Technopreneur ควรให้ความสำคัญกับขั้นตอนหรือกลยุทธ์ในกระบวนการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีหรือสินค้านวัตกรรม ซึ่งจะมีขั้นตอนต่างๆ เป็นลำดับ คือ
1. การมองเห็นโอกาสทางการตลาดสำหรับความต้องการสินค้าใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่
2. การกลั่นกรองหรือคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ
3. การวิเคราะห์หรือประมาณการคร่าวๆ เกี่ยวกับความต้องการของตลาดและความเป็นไปได้ของผลตอบแทนเชิงธุรกิจ
4. การวิเคราะห์เบื้องต้นทางการเงินและแหล่งสนับสนุนทางการเงิน
5. การออกแบบหรือลงรายละเอียดในด้านความเป็นไปได้ทางเทคนิค
6. การจัดเตรียมความพร้อมและโครงสร้างสนับสนุนในการสร้างสินค้าหรือเทคโนโลยี
7. การสร้างสินค้าหรือเทคโนโลยีต้นแบบ
8. การทดสอบสินค้าหรือเทคโนโลยีภายในโรงงาน
9. การทดสอบสินค้าในสภาพใช้งานจริงในตลาดตัวอย่าง
10. การจัดทำแผนธุรกิจเพื่อเปิดตัวสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ
11. การเริ่มต้นปฏิบัติตามแผนธุรกิจที่จัดทำไว้

ขั้นตอนสำคัญเริ่มแรกที่สุดก็คือ การมองเห็นโอกาสหรือการค้นพบโอกาสทางธุรกิจที่จะเป็นที่มาของแรงผลักดันหรือเกิดความคิดที่จะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมามีผู้รวบรวมวิธีการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจไว้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้จากแหล่งต่างๆ ดังนี้

การค้นพบหรือการทดลองที่ได้รับความสำเร็จโดยไม่คาดคิดหรือโดยบังเอิญการทดลองหรือประสบการณ์ที่ล้มเหลว ไม่ได้ผลตามต้องการ แต่กลายเป็นการค้นพบสิ่งใหม่เหตุการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้นหรือไปพบเห็นมาโดยไม่คาดฝันสภาวะของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความแตกต่างที่เป็นโอกาสการสังเกตช่องว่างหรือความแตกต่างระหว่างผลที่เกิดขึ้นจากการทดลองที่คิดไว้กับผลที่เกิดขึ้นจริงเมื่อทดลองทำไปแล้วช่องว่างหรือความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการที่คิดว่าตลาดหรือผู้บริโภคจะยอมรับกับข้อเท็จจริงหรือการสนองตอบจริงของตลาดหรือผู้บริโภคผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานหรือกระบวนการที่ตั้งใจไว้ แต่ได้ผลออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่งการพัฒนาวิธีการทำงานเพื่อลดความผิดพลาดหรือเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างของตลาดหรือผู้บริโภคที่เอื้ออำนวยให้เกิดโอกาสโครงสร้างของประชากรและพฤติกรรมที่เอื้ออำนวยให้เกิดโอกาสทัศนคติ ความนิยม หรือ วิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปมีการสร้างความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครรู้จักฯลฯจะเห็นได้ว่า แหล่งของโอกาสต่างๆ เหล่านี้ อาจแยกออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือโอกาสจากความบังเอิญ หรือที่เรียกว่า “เฮง”โอกาสจากการค้นพบหรือจากองค์ความรู้ใหม่ หรือที่เรียกว่า “เก่ง”โอกาสที่เกิดจากการเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาด หรือที่เรียกว่า “ผิดเป็นครู”ความไม่ “เก่ง” และไม่ “เฮง” ก็ยังจะสร้างโอกาสขึ้นได้ หากผู้ประกอบการยังเป็นคนที่ขยันทำงาน ช่างสังเกต และเรียนรู้กับสิ่งที่ตนเองได้ทำไปกับมือ ถึงแม้ว่าในครั้งแรกจะยังไม่เกิดความสำเร็จขึ้นมาความพยายามและความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด เป็นจิตวิญญาณที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะประสบความสำเร็จโอกาสของธุรกิจใหม่หรือธุรกิจนวัตกรรมไม่เพียงแต่จะอาศัยความสามารถภายในของกิจการ เช่น ความพร้อมในเรื่องการออกแบบและการผลิต และการมองการณ์ไกลของตัวเจ้าของธุรกิจเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ก็คือความต้องการของตลาดอีกด้วยสินค้าใหม่ที่จะประสบความสำเร็จ จะต้องสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะเจาะ ถูกจังหวะ ถูกเวลา ความแปลกใหม่ที่จะมอบให้กับผู้บริโภคก็จะต้องสามารถกระตุ้นความสนใจ หรือสร้างความสนใจให้กับผู้บริโภคได้ และต้องสามารถยืนอยู่ในตลาดได้ยาวพอให้เกิดการคุ้มทุนการมีขนาดตลาดของกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่เพียงพอ และสภาวะของการแข่งขันที่ไม่รุนแรงมากนัก ก็จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้สูงขึ้นได้ฝรั่งจะมอง “โอกาส” เป็นเหมือนกับ “หน้าต่าง” จึงมักเรียกโอกาสว่าเป็น Window of Opportunity เพราะโอกาสมักจะเปิดหรือปิดก็ได้ สำหรับคนใดคนหนึ่งในเวลาใดเวลาหนึ่งแล้วเอสเอ็มอีไทยเราละครับ จะมองเห็นโอกาสเป็นอะไรดี ?!!?

Welcome to Productivity InnovaSys Blog

สวัสดีครับ

ยินดีต้อนรับสู่ Blog ของ Productivity InnovaSys ที่นี่เราจะมานำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวกับการจัดการ / การบริหารการผลิต / การพัฒนาแนวความคิด / และนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับการผลิต หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน

ทางทีมงาน Productivity InnovaSys หวังเป็นอย่างยิ่งว่า Blog นี้จะเป็นแหล่ง share ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ที่มีค่า เพื่อให้อีกหลาย ๆ คน ได้นำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป

Productivity InnovaSys Team