วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551

การปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) และการนวัตกรรม (Innovation)

การปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) และการนวัตกรรม (Innovation) หมายถึงอะไร
Kaizen เป็นคำมาจากภาษาญี่ปุ่น หมายถึงการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ เป็น ค่อย ๆ ไป โดยทั่วไปเน้นที่คน เช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ไม่ต้องใช้การลงทุนสูง ส่วน Innovation หรือที่เราเรียกกันว่า การนวัตกรรมนั้น ก็คือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยมักเน้นที่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ การเปลี่ยนใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย

Kaizen และ Innovation มีความสำคัญอย่างไร

หากเรายังทำงานรูปแบบเดิม หยุดอยู่กับที่ เราก็คงจะแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ หากคู่แข่งพัฒนาปรับปรุงงานอยู่เสมอ เช่น การมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา การมีต้นทุนที่ต่ำลง มีคุณภาพสูงขึ้น และส่งมอบงานให้ลูกค้าได้เร็วกว่า ฉะนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องปรับปรุงงานของเราอยู่เสมอ ซึ่งการปรับปรุงก็ทำได้โดยการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หรือว่าจะค่อย ๆ ปรับปรุงงานของเราไปอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างของการปรับปรุงแบบ Kaizen และ Innovation
สมมติว่าท่านอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต หากท่านต้องการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ท่านอาจทำได้โดยการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรแบบใหม่ที่ทำให้ชิ้นงานถูกผลิตออกมาเร็วขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีหากมันคุ้มค่าแก่การลงทุน อีกทางหนึ่งท่านอาจจะปรับปรุงวิธีการทำงาน ลดงานที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ลดการเอื้อมมือหรือลดระยะทางที่คนงานต้องเดิน ในอุตสาหกรรมบริการก็เช่นกัน ท่านอาจจะรื้อระบบใหม่ หรือปรับปรุงงานทีละเล็กละน้อย

ตัวอย่างง่าย ๆ ของการทำ Kaizen เช่น คนงานเสนอแนะว่าชั้นวางเครื่องมือสูงไป เมื่อลดระดับชั้นลงมา ก็ทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้น เร็วขึ้น จะเห็นว่า Kaizen เป็นการปรับปรุงงานง่าย ๆ ที่ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง การทำ Kaizen ใช้ขั้นตอนง่าย ๆ ตามสามัญสำนึก ซึ่งก็คือ วางแผน ลงมือปรับปรุง ตรวจสอบดูว่าได้ผลเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่ ถ้าได้ก็รักษามาตรฐานนี้ไว้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องแก้ไขให้ได้ตามที่วางแผนไว้ การทำ Kaizen เป็นการทำวงจรนี้ซ้ำ ๆ ไป ซึ่งก็จะเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง วงจรที่ว่านี้ก็คือ PDCA (Plan – Do – Check – Act) (ดูหัวข้อ “7 ขั้นตอนในการปรับปรุงคุณภาพตามแนวทาง PDCA”)

ต่อไป ขอเสนอตัวอย่างของการทำ Kaizen โดยการปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อลดงานที่ไม่จำเป็นออกไป งานที่ไม่จำเป็นได้แก่ การขนย้าย การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น อาจทำได้โดยการวางเครื่องจักรให้อยู่ใกล้กันมากขึ้น เพื่อลดระยะทางขนย้ายระหว่างเครื่องจักร ในบางกรณี การเก็บชิ้นงานที่รอเข้าสู่กระบวนการถัดไปไว้บนรถเข็น แทนที่จะเก็บไว้บนชั้นแล้วต้องมาถ่ายลงรถเข็นอีกครั้ง ก็เป็นการช่วยลดการขนย้ายที่ไม่จำเป็นไปได้ นั่นก็คือการขนย้ายระหว่างชั้นกับรถเข็น

การจัดให้คนงานคนเดียวทำงานหลายๆ ขั้นตอนต่อเนื่องกันไป แทนที่จะแยกให้หลายๆคนทำ ก็จะช่วยลดการเคลื่อนไหวในการส่งต่องานไปยังคนถัดไป และลดงานรอระหว่างขั้นตอนลงได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้คนงานรู้จักงานอย่างครบวงจร เห็นภาพรวมของงานที่ตนทำ ซึ่งก่อให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงงานของตน ทั้งนี้หากกลุ่มผลิตภัณฑ์ใดมีปริมาณการผลิตค่อนข้างสูง เราก็อาจจะนำเครื่องจักรที่จำเป็นในการผลิตตามขั้นตอนต่างๆ มาวางเรียงต่อกัน แทนที่จะวางเครื่องจักรที่จำเป็นเหล่านั้นแยกกันอยู่ตามแผนกต่างๆ วิธีนี้ก็จะช่วยลดระยะทางขนย้ายระหว่างเครื่องจักรลงได้ เป็นการประหยัดเวลายิ่งขึ้น

การจัดให้มีระบบข้อเสนอแนะจากพนักงานในเรื่องการปรับปรุงงาน ก็เป็นการสร้างระบบการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง (ดูหัวข้อระบบการให้คำแนะนำ) นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านดูหัวข้ออื่นๆเกี่ยวกับการควบคุมและปรับปรุงคุณภาพด้วย เพื่อให้ได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการปรับปรุงงาน เช่น หัวข้อ “การลดความสูญเปล่าด้วยหลักการ ECRS”

ตัวอย่างของนวัตกรรม เช่น การทดแทนเครื่องจักรรุ่นเก่าด้วยเครื่องจักรรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น มีความแม่นยำและให้อัตราผลผลิตที่สูงกว่า ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง

ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับ Kaizen และ Innovation

Kaizen และ Innovation เป็นการปรับปรุงงานทั้งคู่ เราควรจะใช้ Innovation เมื่อระบบของเราในปัจจุบันมีขีดจำกัดแล้ว เช่นเทคโนโลยีที่มีอยู่ล้าสมัย จะปรับปรุงงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างไร ก็อาจทำให้งานดีขึ้นได้ไม่ตามที่ต้องการ หรือเมื่อเราต้องการการปรับปรุงอย่างมาก ทั้งนี้จะต้องพิจารณาในแง่ความคุ้มทุนด้วย แต่ไม่ว่าจะทำการนวัตกรรมหรือไม่ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ตลอด เนื่องจากหากเราอยู่กับที่ เราก็อาจจะล้าหลังคู่แข่งที่มีการพัฒนาไปได้
ถ้าใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้วเราไม่ทำการรักษา และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ระดับขีดความสามารถใหม่นี้ก็จะเสื่อมถอยลง ดังนั้น Kaizen กับ Innovation จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องใช้ควบคู่กันไป สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การทำนวัตกรรมซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงอาจเป็นข้อจำกัด จึงควรใช้เมื่อมีความจำเป็น แต่การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องลงทุนสูงแต่อย่างใดคำไข Kaizen, Innovation ไคเซ็น นวัตกรรม การปรับปรุงคุณภาพ นิยามธุรกิจ การพัฒนามาตรฐานธุรกิจจัดทำโดย อ. ดร. นภัสสวงศ์ โอสถศิลป์
Document Source: สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ไม่มีความคิดเห็น: