วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การเพิ่มผลผลิต (Productivity)

“การเพิ่มผลผลิต” หรือ Productivity นั้น เรามักจะได้ยินหรือฟังกันบ่อย แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจและรู้จักมันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับ การเพิ่มผลผลิตว่า เป็นการเพิ่มปริมาณการผลิต ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องซะทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นมักจะไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องที่การเพิ่มผลผลิตเท่าที่ควร ทั้งๆที่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยให้ประเทศไทยสามารถฝ่าฝันวิกฤตเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นได้ โดยเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงงาน รัฐวิสาหกิจ สำนักงาน สถาบันต่างๆ ตลอดจน การเพิ่มผลผลิตในระดับครอบครัว และปัจเจกบุคคล

รู้จัก Productivity กันดีกว่า
การเพิ่มผลผลิต มีแนวคิดว่า “QCD-SMEE” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
-Q:Quality คุณภาพ
-C:Cost การลดต้นทุน
-D:Delivery การส่งมอบ
-S:Safty ความปลอดภัย
-M:Morale ขวัญและกำลังใจในการทำงาน
-E:Environment สิ่งแวดล้อม
-E:Ethics จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ

การเพิ่มผลผลิตที่ดี ควรจะมีองค์ประกอบครบทั้ง 7 ตัว นั้นสามารถจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้ คือ
- คุณภาพ,การลดต้นทุนและการส่งมอบนี้เป็นการปรับปรุงเพื่อตอบสนองความพอใจลูกค้า
- ส่วนความปลอดภัยและขวัญกำลังในเป็นการปรับปรุงเพื่อพนักงาน
- ส่วนสิ่งแวดล้อมและจรรยาบรรณก็ปรับปรุงเพื่อสังคม



แต่โดยทั่วไปแล้วแนวคิดการเพิ่มผลผลิตสามารถแบ่งได้เป็น 2 แนวคิดคือ
1. แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ตามแนวคิดของ International Labor Organization
การเพิ่มผลผลิต คือ อัตราส่วนระหว่างมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตต่อมูลค่าของทรัพยากรที่ใช้ไป
การเพิ่มผลผลิต = ผลิตผล/ปัจจัยการผลิตที่ใช้จริง+ปัจจัยการผลิตที่เป็นของเสีย


2.แนวคิดทางด้านสังคมศาสตร์ ตามคำนิยามของ European Productivity Agency
"การเพิ่มผลผลิต เป็นความสำนึกในจิตใจที่มุ่งแสวงหาทางปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นฐานที่เชื่อว่าเราสามารถทำวันนี้ได้ดีกว่าเมื่อวานนี้และพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ เป็นความพยายามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดที่จะปรับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ให้ทันการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้วิธีการ และเทคนิคใหม่ ๆเป็นความเชื่อมั่นในความก้าวหน้าของมนุษย์"

Quality:คุณภาพ
ความหมายของคุณภาพ
คือสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

ความสำคัญของคุณภาพ
1. สร้างความพอใจให้เกิดแก่ลูกค้า
2. ช่วยลดต้นทุน
3. สามารถส่งมอบได้ตามกำหนด
4. มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
5. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้แก่องค์กร
6. นำมาสู่การเพิ่มกำไรให้แก่องค์กร

วิธีการสร้างคุณภาพ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ากระบวนการผลิตต่าง ๆ (Production and operations management) นั้นประกอบด้วย Input Process and Output และก็ระบบ Feedback & Feedforward ดังนั้นในการสร้างคุณภาพในกระบวนการนั้นไม่ใช่แค่ที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงปัจจัยนำเข้า และกระบวนการที่เป็นมาตรฐานด้วย

การประกันคุณภาพ
คือกิจกรรมหรือการปฏิบัติใด ๆที่ถ้าได้ดำเนินการตามระบบแผนที่วางไว้จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า จะได้ผลงานมีคุณภาพ ตรงตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ การประกันคุณภาพของสินค้าเกี่ยวข้องกับ
  • Inspection
  • Quality Control
  • Reliability Control

ซึ่งปัจจุบันก็มีการนำมาตรฐาน ISO 9000, ISO 14000, ISO18000, QS 9000เป็นต้นมาใช้เป็นมาตรฐานในการประกันคุณภาพ

Cost:การลดต้นทุน

การลดต้นทุนเป็นหนทางแห่งความอยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการมีความจะเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสนใจและเพิ่มความพยายามในการลดต้นทุนอย่างจริงจัง

ความหมายของต้นุทน
ต้นทุน คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนตั้งแต่การทำการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนกระทั่ง ผลิตภัณฑ์ หรือบริการนั้นอยู่ในมือลูกค้า

องค์ประกอบต้นทุน
เราสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ค่าวัตถุดิบทางตรง
2. ค่าแรงงานทางตรง
3. ค่าโสหุ้ยการผลิต ( Overhead Cost)

แนวทางในการลดต้นทุน
1. ใช้หลักวิศวกรรมคุณค่า Value Engineering
2. ขจัดการสูญเสียวัตถุดิบ ซึ่งอาจทำโดย การเปลี่ยนวิธีการผลิต จัดระบบ Inventory ให้มีประสิทธิภาพ
3. มีการจัดระบบ Total Preventive maintenance
4. มีการวางแผนกำลังการผลิต Master schedule ให้เหมาะสมมีการใช้ทรัพยากรต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการรอคอย การขนส่งที่ไม่จำเป็น
5. ปรับปรุงวิธีการทำงานให้สามารถปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพ ( Time and Motion Study)
6. ฝึกอบรมและสอนงานให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการทำงานอย่างถูกต้อง
7. ออกแบบลักษณะงาน Job Enlargement and job enrichment ซึ่งจะช่วยให้สามารถทดแทนแรงงานได้เมื่อมีการขาดงานหรือทำงานไม่ทัน


Delivery: การส่งมอบ
การส่งมอบ คือการส่งงานที่ผลิตเสร็จแล้วในหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งโดยผ่านการขนย้ายโดยใช้สายพาน,รถเข็น,รถยกหรือให้คนเคลื่อนย้ายและสุดท้ายส่งมอบให้ลูกค้า

การปรับปรุงการส่งมอบ
การส่งมอบสินค้าที่ดี ต้องเริ่มจากการวางแผนการผลิตที่ดี โดยพยายามให้ในสายการผลิตเดียวกัน มีการผลิตและส่งชิ้นงานได้ตรงตามความต้องการ แล้วจะส่งผลให้ในสายการผลิตนั้น มีการไหลอย่างต่อเนื่องมากขึ้น และมีงานระหว่างทำในประมาณที่น้อยมาก ประสิทธิภาพของเครื่องจักรดีไม่มีการขัดข้องเสียหายบ่อย ก็จะช่วยให้สามารถทำได้รวดเร็ว ระยะเวลาผลิตโดยรวมก็จะลดน้อยลง
ในด้านของพนักงานที่มีผลต่อการส่งมอบคือ ความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานของพนักงานที่ทำหน้าเครื่องในสายการผลิตและสายการประกอบ เช่น ความเร็วในการทำงานลดลง ความสูญเสียที่เกิดจากการรองาน ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลาในการผลิตชิ้นงานพนักงานคนนั้นมีระยะเวลาที่นานเกินไป ซึ่งหาไม่ได้สังเกตความสูญเสียในงานเหล่านี้ก็จะเกิดความสะสมของปัญหา และมีผลต่อต้นทุนการผลิตได้เช่นกัน ดังนั้นควรใช้เทคนิควิศวกรรมอุตสาหการทำการศึกษา เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาสาเหตุในการแก้ปัญหา
การส่งมอบในสายการผลิตหรือระหว่างกระบวนการผลิตในโรงงานจะมีผลต่อการส่งมอบในขั้นสุดท้ายคือการส่งมอลบให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าของบริษัท ซึ่งบริษัทอาจแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนเครื่องจักรที่รวดเร็ว การพยายามลดความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรและคน หาวิธีการที่เหมาะสมซึ่งเริ่มตั้งแต่การวางแผนการสั่งซื้อ การจัดวัตถุดิบ การวางแผนการผลิตไปจนถึงการส่งมอบที่ทันเวลา และมีความยืดหยุ่นต่อาความต้องการของตลาด เหล่านี้จะส่งผลให้โรงงานนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด

Safety:ความปลอดภัย
ความปลอดภัย คือ สภาวะที่ปราศจากอุบัติเหตุ หรือสภาวะที่ปลอดจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บฯลฯ หรือ การควบคุมความสูญเสียจากอุบัติเหตุ

การป้องกันอุบัติภัย


1. การจัดองค์การและบริหารงานด้านความปลอดภัย
1. กำหนดนโยบายและความรับผิดชอบขององค์การเกี่ยวกับความปลอดภัยส่วนบุคคล ครอบคลุมถึงคู่มือความปลอดภัย ฯลฯ
2. การบรรจุคนงานให้เหมาะสมกับงาน
3. การควบคุมอุบัติเหตุและความเสียหาย
4. ผู้บริหารทุกระดับชั้นต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและอุบัติเหตุ
5. กำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานด้านความปลอดภัย


2.การควบคุมอันตรายทั่ว ๆ ไป
1. จัดระเบียบและดูแลรักษาโรงงาน
2. มีการออกแบบเครื่องป้องกันอันตรายของเครื่องจักรอย่างถูกต้อง รวมทั้งจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการ
3. จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างเหมาะสม
4. จัดหาอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลตามมาตรฐานที่กำหนด และมีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงาน

3.การควบคุมอันตรายในกระบวนการผลิต
1. การป้องกันอันตรายจากสารเคมี
2. การป้องกันอัคคีภัย

4.การฝึกอบรม การสื่อสาร การจูงในด้านความปลอดภัย
1.ฝึกอบรมด้านความปลอดภัย แก่ผู้บริหารและผู้ควบคุม
2.ปลูกฝังทัศนคติด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานใหม่
3.จัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน
4. ตรวจหาข้อป้องกันและแก้ไข
5.จัดประชุมด้านความปลอดภัย
Etc.

5. การสอบสวนอุบัติเหตุ และการวิเคราะห์สาเหตุ
1.มีการสอบสวนและรายงานอุบัติเหตุทุกครั้ง
2.มีระบบการเก็บรวมรวมและจัดทำสถิติอุบัติเหตุ
3.มีการนำข้อมูลทางอุบัติเหตุไปใช้ประโยชน์


Morale: ขวัญและกำลังใจ
“ขวัญและกำลังใจในการทำงาน คือ สภาพทางจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน เช่นความรู้สึกหรือความนำคิดที่ได้รับอิทธิผล แรงกดดันหรือสิ่งเร้าจากปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมในองค์การที่อยู่รอบตัวเขา และมีปฎิกริยาโต้กลับคือ พฤติกรรมในการทำงานซึ่งมีผลโดยตรงต่อผลงานของบุคคลนั้น”

การเพิ่มผลผลิตกับขวัญและกำลังใจ
ในองค์กรต่างๆหากมีบุคคลที่มีคุณภาพก็ถือว่าสำเร็จไปกว่าครึ่งเนื่องจากทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าขององค์การ ที่ต้องเอาใจใส่และพยายามรักษาขวัญและกำลังใจของสมาชิกให้อยู่ในสภาพที่ดี ในที่นี้การเพิ่มผลผลิตก็มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขวัญและกำลังใจของพนักงานให้สูงขึ้น โดยการนำกิจกรรมต่างๆที่ใช้เพื่อการเพิ่มผลผลิต เช่น กิจกรรม 5 ส, กิจกรรมกลุ่มคุณภาพ , Hoshin Kanri นำมาเพื่อเป้าหมายข้างล่างนี้คือ
- พัฒนาพนักงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงานที่สูงขึ้น
- เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน
- ฝึกให้พนักงานเป็นคนช่างสังเกต มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
- รู้จักทำงานเป็นทีมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและปรับปรุงงาน
- หาทางป้องกันมิให้เกิดสภาพที่ไม่ปลอดภัยในการทำงาน

นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงานแก่พนักงานให้เกิดการปรับปรุงงานและสถานที่ทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)


E: Environment
สิ่งแวดล้อมกับอุตสาหกรรม

ในรอบ 2-3 ทศวรรษ การพัฒนาอุตสาหกรรมาของประเทศก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งและอย่างไม่เป็นระบบ เมื่อการเาจริญเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเป็นไปอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ ประเด็นสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวพันโดยตรงกับคุณภาพสินค้า และระบบการบริหารการจัดการ โดยเฉพาะการยอมรับในตลาดโลกที่ควบคุมดูแล โดย WTO นอกจากนี้การกำหนดมาตรฐาน ISO ก็ได้นำมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมมาใช้ และระบุชัดเจนในการกำหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ฉะนั้น อุตสาหกรรมใดทำลายสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมนั้นก็อาจเป็นที่เพ่งเล็งและในที่สุดก็จะถูกควบคุมโดยกลไกของตลาดโลก ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมใดหยิบยกประเด็นทางสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญโอกาสที่จะได้รับการต่อรองทางการค้าจะมีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคก็จะเป็นกลไกที่สำคัญอีกทางหนึ่งในการผลักดันให้ผู้ผลิตหันมาดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

สิ่งแวดล้อมกับการเพิ่มผลผลิต
Waste Minimization ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลผลิตโดยการจัดการของเสีย โดยมุ่งหวังให้มีการตรวจสอบสาเหตุหรือต้นเหตุของการเกิดของเสีย และหาแนวทางในการจัดการแหล่งกำเนิดนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ปลายทางบรรเทาลง นอกจากนี้ยังรวมถึงแนวทางในการใช้หมุนเวียน และการประหยัดทรัพยากรต่างๆ อีกด้วย
สำหรับ Waste Minimization นี้บางครั้งมีการเรียกว่า "Clean Technology, Cleaner Production, Pollution Prevention หรือ Green Productivity"

E:Ethic
ในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ๆ ก็ควรที่จะยึดแนวทางจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Business Ethics) เพื่อจรรโลง ไว้ซึ่งสังคมที่ดีและน่าอยู่สำหรับเพื่อมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม กล่าวคือการมีจรรยาบรรณนั้นหมายถึงการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งสามารถพิจารณาได้คือ
  • เว้นจากการเบียดเบียนลูกค้า
  • เว้นจากการเบียดเบียนผู้จัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบ
  • เว้นจากการเบียดเบียนพนักงาน
  • เว้นจากการเบียดเบียนผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ
  • เว้นขจากการเบียดเบียนคู่แข่ง
  • เว้นจากการเบียดเบียนราชการ
  • เว้นจากการเบียดเบียนสังคม
  • เว้นจากการเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม


ในการแข่งขันที่เสรีของโลกในยุคที่ข่าวสารไร้พรมแดนเช่นนี้ การเพิ่มผลผลิตด้วยแนวคิด QCD-SMEE ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ที่จะสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานความพอใจของลูกค้า ผู้ประกอบการและสังคม ฉะนั้น อย่ารีรอเวลาเริ่มนำแนวคิดนี้ไปปรับประยุกต์ใช้ในองค์กรของคุณ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustain Development)