วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Work Hard กับ Work Smart

บังเอิญไปเจอบทความดี ๆ เกี่ยวกับแนวคิด และวิธีการทำงานเลยเอามาฝากเผื่อใคร ๆ จะเอาไปประยุกต์ใช้ได้ ก่อนอื่นลองพิจารณาบทความต่อไปนี้ดู ว่าคุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า ??

"ทำไมเราก็ทำงานแบบตัวเป็นเกลียวหัวเป็นนอตขนาดนั้น ยังว่าเราไม่ฉลาดอีกเหรอ พูดแบบนี้มันประเภทมือไม่พายยังเสือกเอาเท้าราน้ำนี่หว่า"
หรือใครบางคนอาจจะพูดถึงคุณว่า
"ก็ไม่ได้ว่าเขาโง่สักหน่อย เห็นว่าเป็นคนขยันด้วยซ้ำ แต่ในฐานะของผู้บริหารอย่างเขา การที่มีงานสุมหัวมากมายจนแทบมิดอย่างนั้น มันก็บ่งบอกอะไรบางอย่าง มันตั้งข้อสังเกตได้ว่า เขาใช้งานลูกน้องไม่เป็นหรือไม่ได้ ? เขาหวงงานหรือไม่ ? เขาฝึกสอนหรือสร้างลูกน้องไม่เป็นหรือเปล่า ? หรือแม้แต่เขาจัดลำดับความสำคัญของงานไม่ถูก จนสามารถจะตี ความเลยเถิดไปถึงเขาบริหารไม่เป็นหรือเปล่า ?"
"เท่าที่รู้นะ ไม่ใช่ว่าเขาจะสอนลูกน้องไม่เป็น ใช้ลูกน้องไม่ได้ เขาเคยแล้ว มอบให้คนนั้นทำไอ้นั่น คนนี้ทำไอ้นี่ แต่มันออกมาห่วย ผิดพลาดเสียส่วนใหญ่ แทนที่งานจะเร็วขึ้น เบาแรงขึ้น ต้องมาแก้ไขทบทวนทำกันใหม่ กลายเป็นเสียทั้งเงินทั้งเวลาดับเบิล สู้ลุยเสียเองและให้ลูกน้องคอยช่วยตามสั่ง มันจะได้ผลดีกว่าทุกครั้ง นอกจากไม่ผิดพลาดแล้ว ผลงานก็ออกมาดีอีกต่างหากด้วย มันไม่ถูกหรือที่เขาเอาผลประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้ง ยอมเหนื่อยและหนักเสียเอง ยังมาตั้งข้อสังเกตอะไรกันอีก บั่นทอนกำลังใจและจิตใจกันมากไปหน่อยมั้ง"
"ถ้าเป็นอย่างนี้ ต้องขอค้านที่ว่าสอนลูกน้องเป็นแล้วล่ะ เพราะถ้าอย่างที่ว่านี่มันแปลว่าสอนลูกน้องให้แบ่งเบางานไม่เป็น""อย่าลืมว่าลูกน้องมันไม่มีคุณภาพนะ เดี๋ยวนี้ความรู้ของคนจบปริญญาตรีมามันก็เท่านั้น ไม่เห็นจะต่างกับคนไม่จบตรงไหนเลย ผิดกันแค่คนหนึ่งมีประกาศนียบัตร อีกคนไม่มีเท่านั้น""งานบางอย่างเนี่ย จบปริญญาหรือไม่จบมันก็มีค่าเท่ากันแหละ ถ้าไม่ใช่งานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางอย่างงานช่าง งานบัญชี หรือวิทยาศาสตร์ ใครจบไม่จบอะไรมา มันก็ต้องมาเริ่มต้นที่จุดเดียวกันใหม่ทั้งนั้น สำหรับการทำงานของบริษัทแต่ละแห่งไอ้ที่ต้องใช้เป็นพื้นฐานเพื่อเรียนรู้งาน มันมาจากกึ๋น มาจากไหวพริบ มาจากคอมมอนเซนส์ มาจากพื้นฐานนิสัยใจคอต่างหาก และแน่นอนมันจะต้องมาจากคนสอนคนฝึกให้ด้วยเพราะฉะนั้นเราจะเอาเรื่องพื้นฐานการศึกษา ว่าจบอะไรมา มาวัดกันไม่ได้หรอก ว่าลูกน้องมีคุณภาพหรือไม่มี ไปตัดสินเขาตรงนั้นไม่ได้ คนจำนวนไม่น้อยจบแค่ปริญญาตรี แต่เป็นนายของคนจบระดับปริญญาโทหรือแม้แต่ระดับด็อกเตอร์ได้ มันยืนยันว่าระดับการศึกษากับการสอนคนเป็น สร้างคนเป็น ใช้งานคนเป็นนั้น มันคนละเรื่องผู้บริหารหน้าที่หลักคือการบริหาร การใช้คน ฝึกคน สร้างคน วางแผน แก้ปัญหา ติดตาม สำหรับงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบการที่จะบริหารงานได้นั้น มันต้องบริหารคนเป็นด้วย มันต้องควบคู่กันไป เพราะงานมันจะลุล่วงและสำเร็จได้ มันต้องให้คนที่เป็นลูกน้องช่วยทำ ไม่ใช่ตัวเองทำเสียหมด คือถ้าทำเองได้หมดจะต้องมีลูกน้องไว้ทำไม ที่มีลูกน้องก็เพราะรู้ว่าปริมาณงานมันมากเกินกว่าที่ตัวเองจะทำได้หมดในเวลาที่กำหนดดังนั้นการที่ลูกน้องไม่สามารถช่วยทำงานได้มาก ก็แปลว่ายังไม่สามารถฝึกและสอนลูกน้องให้มีประสิทธิภาพได้เพียงพอ อาจจะสอนไม่เป็น ถ่ายทอดไม่เป็น อดทนไม่พอ หรือไม่มีความตั้งใจจริงที่จะสอนมากกว่าคือเรื่องแบบนี้มันไม่ใช่คนที่ทำงานเก่งจะแปลว่าสอนคนอื่นได้ หรือถ่ายทอดเก่งนะ ก็ดูกันง่ายๆ อย่างอาชีพครูนั่นไง คนจะเป็นครูได้ต้องเรียนจบครูมา ร่ำเรียนทางด้านการถ่าย ทอดการสอนมาโดยตรง แต่ปรากฏว่านักเรียนนักศึกษาเรียนไม่รู้เรื่อง ต้องหาที่เรียนกวดวิชาหรือหาคนติวให้ มันแปลว่าอะไรล่ะแปลว่า ความสามารถในการถ่ายทอดของครูที่เปิดกวดวิชาดีกว่าใช่ไหม มันเป็นความสามารถพิเศษของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับคนที่เป็นนาย เป็นผู้บริหาร เก่งเรื่องงานก็ไม่ได้แปลว่าเก่งเรื่องคนอาการของคนเก่งเรื่องงานแต่ไม่เก่งเรื่องคนก็จะเป็นแบบนี้ล่ะ คืองานท่วมหัวหนักหนาอยู่คนเดียว ไม่สามารถหามือรอง หรือสร้างลูกน้องขึ้นมาให้รับโหลดงานได้มากไปกว่าการแค่เป็นลูกมือเท่านั้นหากงานสูงกว่านี้ มากกว่านี้ จะทำคนเดียวหมดได้ยังไง เพราะเงื่อนไขเวลามันจะจำกัด หากเป็นผู้บริหารระดับกลางๆ การจะขึ้นได้สูงมันก็คงจะลำบาก เพราะขืนขึ้นไปใครจะรับผิดชอบงานที่ทำอยู่ เพราะลูกน้องทำไม่เป็น รับช่วงไม่ได้ ผู้ใหญ่เขาก็คงต้องเอาไว้ที่เดิม ขืนขยับเดี๋ยวงานเสียและหากเป็นเจ้าของเอง ธุรกิจมันก็คงขยายไม่ออก เพราะเถ้าแก่ขยับไม่ออกแล้ว แค่นี้งานก็ล้นมือ เพราะลูกน้องมันช่วยอะไรไม่ได้มากพอจะสรุปได้ว่า ทำงานเก่งแต่ยังไม่ฉลาดพอในการทำงาน คือเวิร์กฮาร์ดก็จริง แต่เวิร์กไม่สมาร์ต""จะเวิร์กให้สมาร์ตต้องทำยังไง ?""ฝึกคน สอนคน สร้างคนให้ได้สิ""จะเอาช่วงไหน จังหวะไหน เวลาไหน ไปฝึกไปสอนล่ะ ในเมื่อตอนนี้มันก็เต็มสูบอยู่แล้ว ขืนหันมาทำอย่างว่า งานจะยิ่งเสียหายเข้าไปใหญ่""ไอ้เรื่องการฝึกการสอนลูกน้องน่ะ เขาใช้วิธีทำไปสอนไปฝึกไปแบบออนจ๊อบเทรนนิ่งนั่นแหละ แต่ข้อสำคัญเราต้องมีแท็กติกและกุศโลบายในการสอน มันต้องค่อยเป็นค่อยไป เอาง่ายๆ ทำให้รับผิดชอบก่อน ทำได้ก็ค่อยเพิ่มระดับให้มันยากขึ้น"ก่อนให้งานมันก็ต้องทำให้เขาเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งเสียก่อน มันอยู่ที่การบรีฟงาน ทำให้เขาเห็นภาพและเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน เขารู้ที่มาที่ไปและเหตุผลต่างๆ หรือไม่ ชัดเจนในสิ่งที่ต้องการไหม อาจจะให้วิธีการขั้นตอนหนึ่งสองสามไปก่อนในช่วงแรกๆ พอมันเวิร์ก ก็อาจเริ่มให้เขาใช้ความคิดของเขาเองเพิ่มขึ้นๆ โดยบรีฟงานให้สั้นลง กระชับขึ้น เพื่อที่เขาจะได้ใช้ความคิดและวิจารณญาณเพิ่มขึ้น ค่อยๆปล่อยให้เขาได้ตัดสินใจเองบ้างทีแรกๆ ก็ถามว่า เขาคิดว่ายังไง งานนี้จะทำแบบไหน เริ่มตรงไหนอย่างไร เจอปัญหาแล้วจะหาทางแก้แบบไหน ให้เขาออกความคิดเห็น อันไหนเห็นเข้าท่าก็ปล่อยเขาตัดสินใจไป อันไหนยังไม่ถูกต้องนัก ก็ลองให้ข้อสังเกต อย่าไปคิดไปสั่งเขาทุกขั้นตอน ค่อยๆ สร้างความเชื่อมั่นในตัวเขาขึ้นมาบางเรื่องผลมันอาจออกมาไม่ได้อย่างที่เราต้องการเสียทีเดียว มันต้องทำใจบ้าง ยอมพลาด ยอมเสียบ้าง มันก็เหมือนกับการลงทุนนั่นแหละ กว่าจะได้มันก็ต้องมีเสียบ้าง แต่มันจะคุ้มค่าในภายหลัง เมื่อลูกน้องสามารถรับงานเป็นชิ้นๆ เป็นเรื่องๆ ไปได้ยิ่งฝึกลูกน้อง สร้างลูกน้องขึ้นมาได้มากเท่าไหร่ งานในมือก็จะลดลงไปมากเท่านั้น เวลาจะมีมากขึ้นที่จะเอามานั่งคิดวิธีพัฒนาอะไรๆ ให้มันดีขึ้น มองอะไร ศึกษาอะไร ได้กว้างขึ้นลึกซึ้งขึ้น และจะสามารถรับงานได้เพิ่มขึ้นอีกแบบนี้แหละเขาถึงจะเรียกว่าเวิร์กฮาร์ดและเวิร์กสมาร์ต